ขณะนี้ท่านกำลังอยู่ที่ : ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ แสงสว่างส่องจิตใจของประชาราษฎร์ของพระองค์ ทรงพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นโปรดให้เลิกทาส พระเกียรติคุณจึงปรากฎไปทั่วโลก พระองค์ได้เสด็จประพาสต้น เพื่อทอดพระเนตรทุกข์สุขของพสกนิกร และเพื่อให้เขาได้อยู่ร่มเย็น ทรงทะนุบำรุงประกาศศิลปวัฒนธรรมไทยให้ปรากฎแก่โลกว่า นี่แหละคือฝีมือของ ช่างทอง ช่างถม ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง และก็เป็นสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่สุดของศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง มหาชนชาวไทยจึงได้ถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" คือ พระมหาราชเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวไทยแห่งแผ่นดินสยาม…” ๑
“เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด ที่จะให้กรุงสยามเปนประเทศอันหนึ่ง ซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้เช่นนี้ จึงเป็นเหตุสำคัญให้พระองค์ได้ทรงพยายามศึกษาหาความรู้ทุกวิถีทาง ในการที่จะทำให้ประเทศสยามเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับนับถือเป็นประเทศหนึ่ง และมีการพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นอารยประเทศ
ด้วยพระราชประสงค์ที่ สมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) ทรงปรารถนาให้พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ได้มีความรู้ในด้านวิชาการ และภาษาต่างประเทศจากประเทศที่เจริญแล้ว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูชาวอังกฤษจากเมืองสิงคโปร์มาถวายพระอักษรภาษาอังกฤษและวิชาการด้านต่างๆ นั้น ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ สนพระราชหฤทัยที่จะทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองที่เจริญแล้วเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ทราบพระนามโดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ด้านพระราชภารกิจ บริหารการปกครองประเทศจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา
ทรงศึกษาระบอบแนวทางการปกครองแบบอย่างวิธีการต่างๆ ของการปกครองแบบยุโรป ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการศึกษาด้านการต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวต่างประเทศ ๒