ขณะนี้ท่านกำลังอยู่ที่ : วิชาช่างลายรดน้ำ
วิชาช่างลายรดน้ำ หรือแผนกช่างลายรดน้ำ
งานช่างลายรดน้ำ เป็นงานประณีตศิลป์ด้านตกแต่งอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบ และการทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จัดเป็นงานช่างศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในหมู่ช่างรัก อันเป็นช่างหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนักซึ่งเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”
ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลาย หรือรูปภาพให้ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีเปิดทอง แล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมากสำหรับตกแต่งสิ่งของ เครื่องใช้ และเครื่องประดับของชาวบ้านธรรมดา เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยใช้ตกแต่งผนังห้องที่มีขนาดใหญ่ อันหมายถึงตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้ว ไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุตให้วิจิตรงดงาม สรุปโดยย่อลายรดน้ำก็คือ ลายทองที่ล้างด้วยน้ำ
การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ประเภทลายรดน้ำนี้คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในสมัยนี้ได้มีติดต่อค้าขายกับจีน และโดยเหตุที่ชาวจีนเป็นชาติแรกที่รู้จักการใช้รักก่อนชาติอื่น จึงทำให้เชื่อได้ว่าไทยเราคงได้รับการถ่ายทอดถึงวิธีการต่างๆ ในการใช้รักรวมไปถึงกรรมวิธีในการทำลายรดน้ำมาแต่ครั้งสุโขทัยนั้่นเอง

รูปภาพ ลายรดน้ำตกแต่งตู้พระไตรปิฏก วัดเชิงหวาย ฝีมือบรมครูสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
งานประเภทลายรดน้ำนี้คงแพร่หลาย และ้เป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา และต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏ ศิลปะโบราณวัตถุที่ตกทอดมาได้แก่ ตู้พระธรรม เครื่องใช้สอย เครื่องคุรุภัณฑ์ ได้แก่ หีบต่างๆ ไม้ประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า ตะลุ่ม ฝา บานตู้ ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานช่างลายรดน้ำของไทยนั้นมีคุณค่าทางด้านศิลปะ อันมีลักษณะโดยเฉพาะ และเป็นแบบอย่างของศิลปะไทยมาแต่โบราณ แม้่ว่างานส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในด้านที่เกี่ยวกับศาสนา และพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งตน๑